สิงโตนักล่า
สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันจะเเนะนำให้ทุกคนรู้จักสิงโตกันค่ะ พวกเขาเป็นนักล่าที่เก่งมากค่ะ
เราไปรู้จักพวกเขากันเลยค่ะ
สิงโต
(อังกฤษ: Lion) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในวงศ์ Felidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมว สิงโตมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera leo มีขนาดลำตัวใหญ่ ขนาดไล่เลี่ยกับเสือโคร่งทั่วไป (P. tigris) ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุล Panthera เหมือนกัน จัดเป็นสัตว์ในวงศ์ Felidae ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองมาจากเสือโคร่งไซบีเรีย (P. t. altaica) พื้นลำตัวสีน้ำตาล ไม่มีลาย ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาวขนปลายหางเป็นพู่ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่งมีน้ำหนักประมาณ 250กิโลกรัม(550ปอนด์)ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่ามักทำหน้าที่ล่าเหยื่อมีน้ำหนักประมาณ180กิโลกรัม(400ปอนด์) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดียในป่าธรรมชาติสิงโตมีอายุขัยประมาณ 10-14 ปี ส่วนสิงโตที่อยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุยืนถึง 20 ปี
ศัพท์มูลวิทยา
คำว่า lion คล้ายกับหลายคำในกลุ่มภาษาโรมานซ์ซึ่งกลายมาจากภาษาละติน "leo" และภาษากรีกโบราณ "λέων" (leon) คำในภาษาฮีบรู"לָבִיא" (lavi) ก็อาจเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน สิงโตเป็นหนึ่งสปีชีส์ที่ถูกจัดจำแนกโดยลินเนียสผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่สิงโตว่า Felis leo ซึ่งปรากฏอยู่ในงานของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 Systema Naturae องค์ประกอบในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera leo มักจะสันนิษฐานว่ามาจากภาษากรีก pan-("ทั้งหมด") และ ther ("สัตว์ร้าย") แต่ก็อาจจะเป็นศัพทมูลวิทยาพื้นบ้าน แม้ว่าคำนี้จะกลายเป็นภาษาอังกฤษจากภาษาแบบแผน แต่เนื่องจากคล้ายคำ pundarikam "เสือ" ในภาษาสันสกฤตอย่างมาก ซึ่งคำนี้อาจมาจากคำ pandarah "ขาว-เหลือง
วิวัฒนาการ
สิงโตเป็นสปีชีส์ในสกุล Panthera และเป็นญาติใกล้ชิดกับสปีชีส์อื่นในสกุลเดียวกันคือ: เสือโคร่ง เสือจากัวร์ และเสือดาว Panthera leo มีวิวัฒนาการในทวีปแอฟริการะหว่าง 1ล้านถึง 800,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคซีกโลกตอนเหนือ สิงโตปรากฏตัวในทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ 700,000 ปีก่อน ซึ่งมีการค้นพบสิงโตชนิดย่อย Panthera leo fossilis ที่อีแซร์เนีย (Isernia) ในประเทศอิตาลี จากสิงโตชนิดนี้ก็กลายเป็นสิงโตถ้ำ (Panthera leo spelaea) ในภายหลัง ปรากฏตัวขึ้นเมื่อ 300,000 ปีมาแล้ว ระหว่างปลายสมัยไพลสโตซีน สิงโตได้แพร่กระจายสู่อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้และวิวัฒนาการเป็นสิงโตอเมริกา (Panthera leo atrox) สิงโตได้สูญหายไปจากตอนเหนือของทวีปยูเรเชียและทวีปอเมริกาในช่วงจุดจบของการเปลี่ยนสภาพโดยธารน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อ 10,000 ปีมาแล้ว ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งที่สองของมหพรรณสัตว์ (megafauna) ในสมัยไพลสโตซีน
ชนิดย่อย
สิงโตในปัจจุบัน เดิมมี 12 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ จำแนกความแตกต่างจาก แผงคอ ขนาด และการกระจายพันธุ์ เพราะลักษณะเหล่านี้ไม่ได้มีนัยสำคัญและมีความแปรผันในแต่ละตัวสูง ทำให้รูปแบบส่วนมากอาจไม่ใช่ชนิดย่อยที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิงโตในสวนสัตว์ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มานั้นอาจมี "ความโดดเด่น แต่ผิดปกติ" ในลักษณะทางสัณฐานวิทยา ปัจจุบันเหลือเพียง 8 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับแม้ว่าหนึ่งในนั้น (สิงโตแหลมกูดโฮพ ปกติจำแนกเป็น Panthera leo melanochaita) อาจเป็นโมฆะ แม้ว่า 7 ชนิดย่อยที่เหลืออาจดูมาก แต่ความแปรผันของไมโทคอนเดรียในสิงโตแอฟริกาปัจจุบันกลับไม่มากนักซึ่งแสดงว่าสิงโตในตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราทั้งหมดสามารถพิจารณาเป็นชนิดย่อยเดียวกันได้ อาจเป็นเพราะการแยกตัวในสองเครือบรรพบุรุษหลัก หนึ่งในทางตะวันตกของเกรตริฟต์แวลลีย์ และอีกหนึ่งในทางตะวันออก สิงโตจากซาโว (Tsavo) ในทางตะวันออกของประเทศเคนยามีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสิงโตในทรานซ์วาล (Transvaal) แอฟริกาใต้มากกว่าสิงโตในเทือกเขาอเบอร์แดร์ (Aberdare) ในทางตะวันตกของประเทศเคนยา ในทางกลับกัน เปอร์ คริสเตียนเซน (Per Christiansen) ทำการวิเคราะห์กะโหลกสิงโต 58 กะโหลกในสามพิพิธภัณฑ์ในยุโรปและพบว่าถ้าใช้สัณฐานวิทยาของกะโหลกสามารถแยกชนิดย่อยได้เป็นkrugerinubicapersicaและsenegalensisขณะที่มีการเลื่อมล้ำกันระหว่าง bleyenberghi กับ senegalensis และ krugeri สิงโตเอเชีย persica มีความโดดเด่นอย่างเด่นชัด และสิงโตแหลมกูดโฮพมีลักษณะใกล้ชิดกับสิงโตเอเชียมากกว่าสิงโตแอฟริกา
มี 8 ชนิดย่อยในปัจจุบัน (สมัยโฮโลซีน) ที่ได้รับการยอมรับ:
- P. l. persica หรือที่รู้จักกันในชื่อ สิงโตเอเชีย สิงโตเอเชียใต้ สิงโตเปอร์เซีย หรือสิงโตอินเดีย มีการกระจายพันธุ์จากประเทศตุรกีข้ามเอเชียตะวันตกเฉียงใต้สู่ประเทศปากีสถาน ประเทศอินเดีย และแม้กระทั่งประเทศบังคลาเทศ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่มันเป็นสิงโตฝูงใหญ่และออกหากินในเวลากลางวันทำให้ง่ายต่อการล่ามากกว่าเสือโคร่งหรือเสือดาว ปัจจุบันเหลือเพียงราว 300 ตัวในอุทยานแห่งชาติป่ากีร์ในประเทศอินเดีย[15] หลักฐานทางพันธุกรรมชี้ให้เห็นบรรพบุรุษสิงโตอินเดียแยกออกจากบรรพบุรุษของสิงโตแอฟริกาในระหว่าง 74,000 และ 203,000 ปีมาแล้ว
สิงโตในปัจจุบัน
- P. l. leo หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตบาร์บารี เดิมมีการกระจายพันธุ์จากประเทศโมร็อกโกถึงประเทศอียิปต์ ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติจากการถูกล่าอย่างหนัก สิงโตบาร์บารีตัวสุดท้ายถูกฆ่าตายในประเทศโมร็อกโกในปี ค.ศ. 1922 เป็นสิงโตชนิดย่อยที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง มีรายงานว่ายาว 3–3.3 เมตร (10–10.8 ฟุต) และหนักมากกว่า 200 กก. (440 ปอนด์) ในเพศผู้ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิงโตเอเชียมากกว่าสิงโตแอฟริกา มีสิงโตจำนวนหนึ่งในกรงเลี้ยงที่อาจจะเป็นสิงโตบาร์บารี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงโต 90 ตัวที่ได้รับสืบทอดมาจากราชวงศ์โมร็อกโกที่สวนสัตว์ราบัต (Rabat)
- P. l. senegalensis หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตแอฟริกาตะวันตกพบในทางตะวันตกของแอฟริกาจากประเทศเซเนกัลถึงประเทศไนจีเรีย
- P. l. azandica หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตคองโกตะวันออกเฉียงเหนือพบในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของคองโก
- P. l. nubica หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตแอฟริกาตะวันออก สิงโตมาไซ หรือสิงโตซาโว พบทางตะวันออกของแอฟริกาจากประเทศเอธิโอเปียและประเทศเคนยาถึงประเทศแทนซาเนียและประเทศโมซัมบิก
- P. l. bleyenberghi หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ หรือสิงโตกาตองงา พบในทางตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกา ประเทศนามิเบีย ประเทศบอตสวานา ประเทศแองโกลา กาตองงา(ซาเอียร์) ประเทศแซมเบีย และประเทศซิมบับเว
- P. l. krugeri หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ หรือ สิงโตเทรนส์เวล พบในบริเวณทรานเวลของแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงอุทยานแห่งชาติครูเกอร์
- P. l. melanochaita หรือที่รู้จักกันในชื่อสิงโตแหลมกูดโฮพ สูญพันธุ์จากธรรมชาติราวปี ค.ศ. 1860 ผลจากการวิจัยไมโทคอนเดรีย DNA พบว่าไม่ควรแยกสิงโตแหลมกูดโฮพออกมาเป็นชนิดย่อย อาจเป็นไปได้ว่าสิงโตแหลมกูดโฮพเป็นประชากรที่อยู่ใต้สุดของการกระจายพันธุ์ของสิงโตชนิดย่อย P. l. kruger
ลักษณะ
สิงโตเป็นสัตว์ที่สูงที่สุด (สูงจรดหัวไหล่) ในวงศ์แมวและมีน้ำหนักมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเสือโคร่ง สิงโตมีกะโหลกศีรษะคล้ายกับเสือโคร่งมาก แม้ว่าบริเวณกระดูกหน้าผากจะยุบลงและแบนราบ กับหลังเบ้าตาสั้นกว่าเล็กน้อย กะโหลกศีรษะของสิงโตมีโพรงจมูกกว้างกว่าเสือโคร่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความแปรผันในของกะโหลกศีรษะของสัตว์ทั้งสองชนิด ปกติแล้วจึงมีเพียงโครงสร้างของขากรรไกรล่างเท่านั้นที่เป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือได้ว่าเป็นสปีชีส์ใด สีขนของสิงโตจะมีตั้งแต่สีน้ำตาลอมเหลืองจางๆถึงค่อนข้างเหลือง ออกแดง หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่าและพู่หางมีสีดำ ลูกสิงโตที่เกิดมาจะมีจุดลายรูปดอกกุหลาบสีน้ำตาลบนลำตัวคล้ายกับเสือดาว แม้ว่าจุดเหล่านี้จะจางหายไปเมื่อสิงโตโตเต็มวัย แต่บ่อยครั้งกลับยังสามารถพบเห็นได้จางๆบนขาและส่วนท้องโดยเฉพาะในสิงโตเพศเมีย
สิงโตเป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวในวงศ์เสือและแมวที่แสดงความแตกต่างระหว่างเพศอย่างชัดเจน และแต่ละเพศก็จะบทบาทพิเศษต่างกันไปในฝูง ในกรณีสิงโตเพศเมีย เป็นนักล่าไม่มีแผงคอหนาเป็นภาระเช่นในเพศผู้ ซึ่งดูเหมือนเป็นอุปสรรคต่อสิงโตเพศผู้ที่จะอำพรางตัวเข้าใกล้เหยื่อและสร้างความร้อนเป็นอย่างมากเมื่อต้องวิ่งไล่ติดตามเหยื่อ สีของแผงคอในสิงโตเพศผู้อยู่ระหว่างสีเหลืองอ่อนถึงดำ ปกติจะเข้มขึ้นเรื่อยๆเมื่อสิงโตมีอายุมากขึ้น
ส่วนศีรษะและลำตัวยาว 170–250 ซม. (5 ฟุต 7 นิ้ว – 8 ฟุต 2 นิ้ว) ในสิงโตเพศผู้ และ 140–175 ซม. (4 ฟุต 7 นิ้ว – 5 ฟุต 9 นิ้ว) ในสิงโตเพศเมีย สูงจรดหัวไหล่ราว 123 ซม. (4 ฟุต) ในเพศผู้ และ 107 ซม. (3 ฟุต 6 นิ้ว) ในเพศเมีย หางยาว 90–105 ซม. (2 ฟุต 11 นิ้ว - 3 ฟุต 5 นิ้ว) ในเพศผู้ และ 70–100 ซม. (2 ฟุต 4 นิ้ว – 3 ฟุต 3 นิ้ว) ในเพศเมีย สิงโตตัวที่ยาวที่สุดเป็นสิงโตเพศผู้แผงคอสีดำที่ถูกยิงตายใกล้กับมุคส์ซู (Mucsso) ทางตอนใต้ของประเทศแองโกลาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1973 สิงโตที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติคือสิงโตกินคนซึ่งถูกยิงตายในปี ค.ศ. 1936 นอกเมืองเฮกทอร์สพริต (Hectorspruit) ในทางตะวันออกของจังหวัดทรานสวาล (Transvaal) ประเทศแอฟริกาใต้ มีน้ำหนัก 313 กก. (690 ปอนด์) สิงโตในที่เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตในธรรมชาติ สิงโตที่หนักที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้เป็นสิงโตเพศผู้ที่สวนสัตว์โคลเชสเตอร์ (Colchester) ในประเทศอังกฤษ มีชื่อว่าซิมบา (Simba) ในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งมีน้ำหนักถึง 375 กก. (826 ปอนด์)น้ำหนักของสิงโตที่โตเต็มที่จะอยู่ระหว่าง 150–250 กก. (330–550 ปอนด์) สำหรับเพศผู้ และ 120–182 กก. (264–400 ปอนด์) สำหรับเพศเมีย โนเวลล์ (Nowell) และแจ็คสัน (Jackson) รายงานว่าน้ำหนักตัวของสิงโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 181 กก.สำหรับเพศผู้ และ 126 กก.สำหรับเพศเมีย มีสิงโตเพศผู้ตัวหนึ่งที่ถูกยิงตายใกล้กับภูเขาเคนยามีน้ำหนัก 272 กก. (600 ปอนด์) สิงโตมีแนวโน้มของขนาดตัวที่แปรผันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและบริเวณถิ่นอาศัย ผลการบันทึกน้ำหนักของสิงโตที่กระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ในกรณีสิงโตในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มของน้ำหนักตัวมากกว่าสิงโตในแอฟริกาตะวันออก 5 %
มีลักษณะเด่นชัดมากที่ปรากฏในสิงโตเพศผู้และเพศเมียคือมีขนกระจุกที่ปลายหาง ในสิงโตบางตัว ขนกระจุกจะปกปิด"เงี่ยงกระดูก"หรือ"ปุ่มงอก"ซึ่งยาวประมาณ 5 มม.ซึ่งเกิดจากส่วนสุดท้ายของกระดูกหางรวมตัวกัน สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวเพียงชนิดเดียวที่มีขนกระจุกที่ปลายหาง หน้าที่ของขนกระจุกและเงี่ยงกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เมื่อแรกเกิดลูกสิงโตจะไม่มีขนกระจุกนี้ ขนกระจุกจะเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อมีอายุประมาณ 5½ เดือน และสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่ออายุ 7 เดือน
ที่มา: สิงโตนักล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น