วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เต่าทะเล

เต่าทะเล
      สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันจะพาทุกคนไปชมธรรมชาติที่ท้องทะเลกันค่ะ จะพาทุกคน
ไปพบกับเต่าทะเลกันค่ะ


เต่าทะเล
     ในปัจจุบัน เต่าทะเล ที่กระจายพันธุ์อยู่แถบน่านน้ำทะเลไทย มีจำนวนที่น้อยลงอย่างมาก จากการทำประมงเกินขนาดปริมาณความต้องการกระดองและเนื้อเต่าทะเลเพื่อทำการส่งออก และการสูญเสียพื้นที่วางไข่ตามแนวชายหาด ในระยะต่อมากรมประมงมองเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้ออกกฎห้ามทำการประมงอวนลากใกล้ชายฝั่งในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง โดยเพิ่มกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้น และแหล่งวางไข่เต่าทะเลหลายแห่งได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล


     เต่าทะเลจัดอยู่ในชั้นสัตว์เลื้อยคลาย มีสายตาสั้นเมื่ออยู่บนบก แต่สายตากลับตอบสนองได้ดีขึ้นเมื่ออยู่ใต้น้ำ เนื่องจากการหักเหของแสงในน้ำ เพราะแสงไฟมีผลต่อสายตาของเต่าทะเลอย่างมาก ลูกเต่าทะเลแรกเกิดจะอาศัยแสงรำไรของขอบฟ้า เป็นตัวกำหนดทิศทางเพื่อมุ่งหน้าสู่ทะเล เว้นแต่ว่า บริเวณใกล้เคียงมีสิ่งให้แสงสว่างมากกว่า ลูกเต่าทะเลจะหันทิศทางมาทางแสงไฟทันที ดังนั้น บริเวณหน้าหาดที่มีเรือประมงมาก แสงสว่างอาจทำให้ลูกเต่าทะเล พากันไปติดอวนชาวประมงได้
ชนิดของเต่าทะเล
     มีการค้นพบเต่าทะเลทั่วโลกมีทั้งหมด 8 ชนิด แต่พบในไทยเพียง 5 ชนิด แบ่งเป็น 2 วงศ์ คือ Cheloniidae มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวฆ้อน  วงศ์ Dermochelyidaeมีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ เต่ามะเฟือง ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในปี พ.ศ.2535  องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และอนุสัญญาไซเตส (CITES)
เต่าตนุ (Green turtle) ชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonia mydas (Linnaeus, 1758)
     มีจะงอยปากค่อนข้างทู่เมื่อเปรียบเทียบกับเต่ากระ ริมฝีปากทั้งบน-ล่างมีรอยหยักขนาดเล็ก และมีกระดองสีน้ำตาลอมเหลืองมีลายริ้วสีจางกว่ากระจายจากส่วนกลางเกล็ด จึงเป็นที่มาของชื่อ เต่าแสงอาทิตย์ เมื่อโตเต็มวัยมีความยาว 120 ซม. หนัก 150 กก. โดยเต่าตนุเพศเมียในช่วงเต็มวัยจะวางไข่ทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 14-25 ปี ซึ่งสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่มีช่วงสูงสุดระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เต่าตนุทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถผสมพันธุ์ได้ทีละหลายตัวเช่นเดียวกัน ในช่วงวัยเด็กเต่าตนุกินทั้งพืชและสัตว์น้ำเล็กๆ เป็นอาหาร เมื่อโตเต็มวัยจะกินพืชเป็นหลัก เช่น สาหร่ายทะเล และหญ้าทะเล ถือเป็นเต่าทะเลชนิดเดียวที่กินพืช สามารถพบเต่าตนุได้ในเขตร้อนตามแนวชายฝั่ง ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
เต่ากระ Hawksbill turtle ชื่อวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricate (Linnaeus, 1766)
     จะงอยปากค่อนข้างแหลมงุ้มคล้ายปากเหยี่ยว เพื่อการหากินตามซอกหลืบต่างๆ ของแนวปะการัง ลักษณะเด่นชัดคือ เกล็ดบนกระดองมีลวดลายริ้วที่สวยงาม และลักษณะเกล็ดซ้อนกันอย่างเด่นชัด เต่ากระแรกเกิดไปจนถึงช่วงวัยรุ่นจะมีสันแหลมตามความยาวกระดอง มีเล็บทั้งขาหน้าและหลังข้าง ซึ่งจะค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้น มีความยาว 95 ซม. หนัก 60 กก. เต่ากระเพศเมียโตเต็มวัยมีการวางไข่ทุก 2-3 ปี ในระหว่างช่วงฤดูร้อน-ฤดูฝน เต่ากระกินฟองน้ำและสัตว์น้ำเล็กๆ ในแนวปะการัง นอกจากนี้อาหารของเต่ากระยังมี กุ้ง หมึก เพรียง รวมถึงงูทะเล ซึ่งเต่ากระอาศัยในเขตร้อน บริเวณน้ำตื้นแนวปะการัง แนวหญ้าทะเลและแนวสาหร่าย
เต่าหญ้า Olive Ridley Turtle ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidochelys olivacea (Eschscholtz, 1829)
    มีกระดองผิวเรียบสีเทาอมเขียว สีสันไม่สวยงามเท่าเต่ากระและเต่าตนุ ส่วนหัวค่อนข้างโต จะงอยปากมนกว่าเต่าตนุ เมื่อโตเต็มวัยมีขนาดประมาณ 75-80 ซม. น้ำหนัก 50 กก. จัดเป็นเต่าทะเลมีขนาดเล็กที่สุด เมื่อตัวเต็มวัยจะหากินอยู่บริเวณชายฝั่งน้ำตื้นแต่สามารถดำน้ำได้ถึง 300 เมตร วางไข่ทุกๆ 1-3 ปี ฤดูวางไข่ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคม เต่าหญ้า มีปากใหญ่และแข็งแรง เพื่อให้ง่ายต่อการบดเคี้ยวเปลือกที่แข็งของปู กุ้ง และหอย นอกจากนี้ยังกินอาหารชนิดอื่นๆ ได้แก่ แมงกะพรุนและพืชทะเลชนิดต่างๆ พบว่าอาศัยหลักอยู่ในเขตซีกโลกเหนือ ประเทศไทยพบมากในฝั่งทะเลอันดามัน

   จะสังเกตได้ว่าเต่าทะเลแต่ละชนิดจะเลือกกินอาหารที่ต่างกัน เพื่อลดการแก่งแย่งอาหารในธรรมชาติ บางชนิดกินเนื้อเป็นอาหาร (Carnivorous) บางชนิดกินพืช (Herbivorous) หรือบางชนิดกินทั้งพืชและสัตว์ พฤติกรรมการกินอาหารแตกต่างกันนี้ทำให้เต่าทะเลมีวัฒนาการช่องปาก (beak) ไม่เหมือนกัน ชนิดอาหารที่กินทำให้เต่าทะเล มีบริเวณที่อยู่อาศัยที่แตกต่างด้วยเช่นกัน



ที่มา: เต่าทะเล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น