วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

นกยูงไทย

นกยูงไทย
     สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันจะพาทุกคนไปสัมผัสกับนกยูงไทย ที่มีสีสันสวยงาม หรือหลายคนอาจเคยเห็นอยู่เเล้ว ไปดูความสวยงามของเขากันเลยค่ะ


ชื่อวิทยาศาสตร์ 
 ทั่วโลกมีนกยูง 2 ชนิด คือ นกยูงเขียว (Green Peafowl) และ นกยูงอินเดีย (Indian Peafowl) ซึ่งนกยูงเขียวแบ่งเป็น 3 ชนิดย่อย แต่ในประเทศไทยพบเพียง 2 ชนิดย่อย คือ
-นกยูงเหนือหรือนกยูงเขียวพันธุ์อินโดจีน ( Indo-Chinese Green Peafowl; Pavo muticus imperator )
-นกยูงใต้หรือนกยูงเขียวพันธุ์ชวา ( Javanese Green Peafowl; Pavo muticus muticus )


ลักษณะทั่วไป

         เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก สังเกตได้ง่ายตรงที่ขนคอ หน้าอกและส่วนอื่นๆจะมีสีเขียว และสีเหลืองเหลือบทองดูเป็นมัน ขนคลุมปีกสีน้ำเงิน ปลายปีกสีน้ำตาล ที่หัวมีขนหงอนชี้ตรงเป็นกระจุกสีเขียว ด้านบนศีรษะตั้งแต่ด้านหลังจนถึงหน้าผากจรดโคนจะงอยปากมีขนละเอียดขดเป็นปุ่มเล็กๆ อัดกันแน่นสีน้ำเงินเข้มเป็นมัน ใบหน้าทั้งสองข้างเป็นแผ่นหนังมีสีฟ้าและสีเหลืองล้อมลูกตาและหูตามลำดับ ตัวผู้ขนคลุมหางยาวกว่าหนึ่งเมตร ซึ่งตรงปลายของขนคลุมหางจะมีดอกดวงที่เรียกว่าแววมยุราลวดลายสวยงามเป็นวงรีสามวงซ้อนกัน วงในสุดสีม่วงแก่ วงที่สองสีน้ำเงินและวงที่สามสีเขียวมรกต ริมขอบของวงนอกมีสีจางกว่าวงชั้นใน เห็นได้ชัดเวลารำแพนเกี้ยวตัวเมีย และเมื่อพ้นฤดูผสมพันธุ์ขนคลุมหางจะหลุดออกทำให้ดูคล้ายกับตัวเมีย แข้งสีเทาดำมีเดือยใหญ่ยาวข้างละ 1 เดือย ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า ไม่มีหงอน ไม่มีเดือย มีสีเขียวไม่สดใสเท่าตัวผู้และที่โคนปีกสีน้ำตาลจะมีลายดำสลับชัดเจน มีแผ่นขนคล้ายเกล็ดที่ปกคลุมบริเวณคอ อกและหลังขนาดเล็กกว่า ขาสั้นกว่า ขนคลุมหางยาวไม่เกินขนหางและไม่มีแววมยุรา นกยูงใต้มีขนาดเล็กกว่านกยูงเหนือ มีสีเข้มกว่า ขนคลุมหัวปีกออกเป็นสีฟ้าอมเขียวขณะที่นกยูงเหนือเป็นสีฟ้า หนังที่หูและแก้มของนกยูงใต้จะมีสีเหลืองสดกว่า อย่างไรก็ตามผู้ชำนาญเท่านั้นจึงจะจำแนกนกยูงทั้งสองชนิดได้


อุปนิสัยและอาหาร


     นกยูงอาศัยอยู่ตามป่าทั่วไปที่มีระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ตัวผู้หนึ่งตัวต่อตัวเมีย 3-5 ตัวในฤดูผสมพันธุ์ หลังจากนั้นตัวผู้จะอยู่เดียว ตัวเมียจะอยู่ดูแลลูกๆตามลำพัง ออกหากินช่วงเช้าและบ่ายตามชายป่า และตามชายหาดริมลำธาร กลางคืนจับคอนนอนตามกิ่งไม้ที่ค่อนข้างสูง อาหารที่กินได้แก่ เมล็ดพืช ธัญพืช ผลไม้สุกที่หล่นตามพื้น ยอดอ่อนของหญ้า นอกจากนี้ยังชอบกินแมลง ตัวหนอน ไส้เดือน งูและสัตว์ขนาดเล็ก สำหรับในกรงเลี้ยงสามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปตามช่วงอายุต่างๆ โดยให้อย่างเดียวหรือผสมกับเมล็ดธัญพืชแล้วเสริมด้วยอาหารจำพวกหนอนเลี้ยงนก ผลไม้และวิตามิน นกยูงโตเต็มวัยกินอาหารสำเร็จรูปประมาณ 110.13 กรัม/ตัว/วัน


การผสมพันธุ์

          ในกรงเลี้ยงฤดูผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ตัวผู้จะใช้วิธีรำแพนเกี้ยวตัวเมีย ในธรรมชาติทำรังตามพื้นดิน ตามซุ้มกอพืช ซุ้มไม้ อาจมีหญ้าหรือใบไม้รองก้นรัง วางไข่ 3-6 ฟอง ในกรงเลี้ยงวางไข่ตามมุมกรงหรือลังไม้ที่จัดไว้ให้ ไข่มีลักษณะรูปร่างป้านด้านหนึ่งแหลมด้านหนึ่ง เปลือกไข่มีสีขาวนวลถึงสีน้ำตาลอ่อน บางฟองมีจุดกระสีขาว มีวงจรไข่ (Cycle) และการวางไข่แต่ละฟองในแต่ละตับ(Clutch) ไม่คงที่โดยมีระยะห่างการวางไข่แต่ละฟองส่วนใหญ่ 1 วัน และ 2 วัน ตามลำดับ ไข่มีน้ำหนัก 102.69 กรัม กว้าง 51.76 ม.ม. ยาว 73.55 ม.ม. ดัชนีรูปร่างไข่ 73.55% ใช้เวลาฟัก 27-28 วัน ลูกนกยูงไทยแรกเกิดมีน้ำหนักเฉลี่ย 64.35 กรัม ตัวเมียสามารถออกไข่ทดแทนได้หลายชุดหากเก็บไข่ไปฟักเอง ลูกนกยูงเกิดใหม่มีขนอุย ลืมตาและเดินตามแม่หากินได้เมื่อขนแห้งและแข็งแรงโดยจะอยู่กับแม่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน นกยูงตัวผู้สามารถผสมพันธุ์ให้น้ำเชื้อได้เมื่ออายุ 3 ปี ส่วนตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป

ที่มา: นกยูงไทย

1 ความคิดเห็น: